ทำความรู้จักกับพื้นบ้านโครงสร้างเหล็ก

ทำความรู้จักกับพื้นบ้านโครงสร้างเหล็ก


บ้านโครงสร้างเหล็กเป็นหนึ่งในเทรนด์การสร้างบ้านสมัยใหม่ แต่ถ้าให้พูดถึงวัสดุโครงสร้างของบ้านที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้นคอนกรีตและไม้ แต่นอกจากวัสดุโครงสร้างทั้งสองแบบนี้แล้ว เหล็กก็เป็นวัสดุโครงสร้างอีกประเภทหนึ่ง ที่ได้ความนิยมในต่างประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งบ้านโครงสร้างเหล็กสามารถทำได้ 3 แบบ ได้แก่ พื้นบ้านหรือวัสดุทนแทนไม้ พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป และพื้น Metal Deck โดยแต่ละแบบมีรายละเอียด ดังนี้
ประเภทของพื้นบ้านโครงสร้างเหล็ก

พื้นไม้หรือวัสดุทดแทนไม้

บ้านโครงสร้างเหล็กจะคล้ายกับบ้านโครงสร้างไม้ คือมีการใช้ชิ้นส่วนโครงสร้างต่างๆ เช่น เสา คานเหล็ก ตงเหล็ก มาประกอบยึดเข้าด้วยกัน ดังนั้นการวางโครงสร้าง ตงเหล็ก และคานเหล็ก คล้ายกับบ้านโครงสร้างไม้จึงเป็นวิธีทำพื้นแบบที่ง่ายที่สุดของบ้านโครงสร้างเหล็กจากนั้นจึงปูแผ่นพื้นไม้หรือวัสดุทดแทนไม้จำพวกซีเมนต์บอร์ดลงไปบนตงเหล็กและขั้นตอนสุดท้ายปูวัสดุปูพื้น เช่น กระเบื้องยาง พรม

พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป

โครงสร้างเหล็กสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าโครงสร้างไม้ จึงสามารถรับน้ำหนักแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปได้ การทำพื้นแบบนี้สามารถทำได้โดย วางแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปบนคานเหล็ก จากนั้นวางตะแกรงเสริมเหล็กหรือไวร์เมชบนแผ่นพื้น แล้วเทคอนกรีตทับ จากนั้นจึงติดตั้งวัสดุปูพื้นตามที่ต้องการ

พื้น Metal Deck

พื้นลักษณะแบบนี้สามารถใช้งานในส่วนที่เปียกน้ำได้ เช่น ห้องน้ำ หรือ ดาดฟ้า พื้น Metal Deck นี้จะประกอบไปด้วยแผ่นเหล็กรีดเป็นลอน วางบนคานเหล็ก ยึดด้วยหัวหมุดเหล็กเป็นระยะ วางตะแกรงเสริมเหล็กหรือไวร์เมชกันร้าวด้านบน แล้วจึงเทคอนกรีตทับ จากนั้นจึงติดวัสดุปูพื้น เช่น หินขัด กระเบื้องเซรามิก

ข้อดีและข้อเสียของบ้านโครงสร้างเหล็ก

ข้อดีบ้านโครงสร้างเหล็ก

1. ระยะเวลาก่อสร้างรวดเร็ว เมื่อระยะเวลาก่อสร้างลดลง ค่าแรงจึงลดลง
2. ปริมาณการทำงานลดลง ใช้จำนวนคนงานน้อยลง
3. เหล็กมีความยืดหยุ่นตัวสูง ช่วยรองรับบ้านจากแผ่นดินไหว
4. โครงสร้างเหล็กน้ำหนักเบากว่าคอนกรีต ช่วยลดการใช้เสาเข็ม
5. สามารถสร้างในพื้นที่เฉพาะ ที่มีข้อจำกัดสูงได้

ข้อเสียบ้านโครงสร้างเหล็ก

1. งานเชื่อมเหล็กจำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือคุณภาพสูงในการเชื่อมต่องานเหล็ก
2. ต้นทุนวัสดุมีราคาแพงกว่าบ้านทั่วไปประมาณ 30% เนื่องจากวัสดุเหล็กมีราคาสูง
3. หาบริษัทรับสร้างยากกว่า เนื่องจาก ผู้รับสร้างบ้าน ส่วนใหญ่ยังคุ้นชิน กับการสร้างบ้านปูนแบบทั่วไป
4. ต้องมีวิศวกรผู้ชำนาญการควบคุมแบบโครงสร้าง
5. มีค่าบำรุงรักษาระยะยาว ค่าสี ป้องกันสนิม




ความคิดเห็น